วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เป้าหมายยุทธศาสตร์และตัวบ่งชี้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๖๑)

เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย สำหรับการดำเนินงานตั้งแต่บัดนี้จนสิ้นสุด พ.ศ. ๒๕๖๑ ดังนี้
เป้าหมายยุทธศาสตร์ข้อ ๑ คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล
ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย
๑.๑ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักจากการทดสอบระดับชาติมีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ ๕๐
๑.๒ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ (ผลสอบ PISA)
๑.๓ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ต่อปี
๑.๔ ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ต่อปี
๑.๕ สัดส่วนผู้เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทอาชีวศึกษา : สามัญศึกษาเป็น ๖๐ : ๔๐
๑.๖ ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีคุณภาพระดับสากลและเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ
๑.๗ จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทย (อายุ ๑๕ ๕๙ ปี) เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ ปี
เป้าหมายยุทธศาสตร์ข้อ ๒ คนไทยใฝ่รู้ : สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่านและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง
ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย
๒.๑ ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีทักษะในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
๒.๒ อัตราการรู้หนังสือของประชากร (อายุ ๑๕ ๖๐ ปี) เป็นร้อยละ ๑๐๐
๒.๓ ผู้เข้ารับบริการในแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นปีละอย่างน้อยร้อยละ ๑๐
๒.๔ คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน / นอกเวลาทำงานโดยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ ๖๐ นาที
๒.๕ สัดส่วนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ต่อประชากรอายุ ๖ ปีขึ้นไปเป็นร้อยละ ๕๐
เป้าหมายยุทธศาสตร์ข้อ ๓ คนไทยใฝ่ดี : มีคุณธรรมพื้นฐาน มีจิตสำนึกและค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย
ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย
๓.๑ ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีคุณธรรม จริยธรรมและมีความเป็นพลเมือง
๓.๒ จำนวนคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี
๓.๓ จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีที่ตั้งครรภ์ ลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี
๓.๔ จำนวนเด็กและเยาวชนเข้ารับการบำบัดยาเสพติดลดลงร้อยละ ๑๐ ต่อปี
๓.๕ สัดส่วนคนไทยที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕ ต่อปี
เป้าหมายยุทธศาสตร์ข้อ ๔ คนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ : มีทักษะในการคิดและปฏิบัติ มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร
ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย
๔.๑ ผู้เรียนทุกระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์
๔.๒ ผู้สำเร็จการอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษา มีสมรรถนะเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้และมีงานทำภายใน ๑ ปี รวมทั้งประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น
๔.๓ กำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๕ และมีสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐาน

Towards World-Class Education

โรงเรียนอนุบาลเมืองอุทัยธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 อยู่ในเขตภาคเหนือ

ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการคัดเลือกที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 42

ระดับภูมิภาค จัดที่โรงเรียนลำปางกัลยาณี จังหวัดลำปาง วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2553

ระดับชาติ (National Symposium) คาดว่าจัดในเดือน ธันวาคม 2553 ณ ไบเทค บางนา

การนำเสนอผลงานโรงเรียนมาตรฐานสากล

โรงเรียนมาตรฐานสากล World-Class Standard School เป็นโรงเรียนในโครงการที่จัดหลักสูตรการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล โดยมีความมุ่งหวังไว้ว่า นักเรียนมีศักยภาพ เป็นพลเมืองโลก โดยมีโรงเรียนในโครงการทั่วประเทศรวม 500 โรงเรียน ด้วยการคัดเลือกโรงเรียนที่มีศักยภาพในการต่อยอดให้บรรลุวัตถุประสงค์โครงการ ใช้ระยะเวลาดำเนินการโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2555

โรงเรียนอนุบาลเมืองอุทัยธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 เป็นโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด หรืออนุบาลดอกบัว ได้ดำเนินการพัฒนา / ยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและ การจัดการด้วยระบบคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน เป็นมาตรฐานสากล

ศตวรรษที่ 21 ทุกประเทศได้มีการพัฒนาและใช้หลักสูตรการศึกษาที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียนได้
- Learn to know
- Learn to be
- Learn to live together
เพื่อสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในฐานะพลโลก
เป็นเลิศวิชาการ (เรียนคณิต, วิทย์, ไทย, English)
สื่อสารสองภาษา (เรียนไทย, English)
ล้ำหน้าทางความคิด (ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ค้นคว้าแสวงหาความรู้โดยใช้ Internet)
ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ (มอบหมายให้นักเรียนสร้างโครงงานบริการสังคม ให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์)
ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมโลก (ได้เรียนรู้จากกิจกรรม CAS)

การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนมาตรฐานสากล
1. ยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาทุกประการ
2. จัดให้มีการเรียนการสอนที่เป็นสากล 4 สาระ ได้แก่
- ทฤษฎีความรู้ (Theory of knowledge : TOK) วิชาที่ว่าด้วยการให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ที่เป็นปัญหา / ข้อสงสัย / สิ่งที่อยากรู้ โดยให้ค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือ และเขียนรายงานสรุปผลการค้นค้าเป็นรูปแบบความเรียง ชั้นสูง โดยใช้ภาษา อย่างถูกต้อง และนำเสนอเป็นรูปแบบที่ถูกต้องเป็นสากล
- ความเรียงชั้นสูง (Extended – Essay)
- โครงงาน / กิจกรรมสร้างสรรค์ (CAS : Creative, Action, Service)
- โลกศึกษา (Global Education) จัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นกระบวนการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม โดยการวิเคราะห์เหตุการณ์และการพัฒนาที่เกิดขึ้นในจุดเล็ก ๆ ที่เป็นความจริงใกล้ตัวของผู้เรียน โดยให้สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ ที่สามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลต่อความสันติสุข และความมั่นคงปลอดภัยในโลก
3.ปรับเปลี่ยนวิธีการวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงาน นำเสนอผลงานทั้งเป็นเอกสารและปากเปล่า (Oral Presentation) ซึ่งหมายถึงการให้ผู้เรียนเจ้าของผลงานนำเสนอผลงานเอกสารด้วยการเขียน โดยไม่อนุญาตให้นำเสนอโดยการอ่าน ไม่ใช่การสอบสัมภาษณ์ (Interview)

อ้างอิง ไขข้อข้องใจในเรื่อง โรงเรียนมาตรฐานสากล World-Class Standard School
สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ


ความเป็นมา
โรงเรียนมาตรฐานสากล (World - Class Standard School) คือโรงเรียนที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์) ที่ต้องการยกระดับโรงเรียนชั้นนำจำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ให้เป็นโรงเรียนดีมีมาตรฐานสากล ซึ่งนั่นเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องตอบให้ได้ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้โรงเรียนที่มีความพร้อมเหล่านั้นได้รับการพัฒนาและยกระดับสู่การเป็น "โรงเรียนมาตรฐานสากล"
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงได้เร่งสนองนโยบายดังกล่าว โดยการศึกษา สังเคราะห์เอกสาร จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากโรงเรียนและประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนให้เป็นไปตามเป้าประสงค์
จากการระดมสมองร่วมคิด ร่วมหารือ จึงสามารถวางแผนงานได้ว่า โรงเรียนมาตรฐานสากล จะต้องมีหลักสูตรเด่นที่เน้นมาตรฐาน ซึ่งหลักสูตรนั้นจะต้องประกอบด้วย 8 สาระการเรียนรู้ ผนวกกับความเป็นสากลที่ประกอบด้วย ทฤษฎีองค์ความรู้ ชักนำเด็กสู่การคิดโครงงาน และสามารถเสนอผลงานได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น ต้องอยู่ภายใต้การบริหารที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ มีผู้นำล้ำเลิศความคิดครอบคลุมภารกิจทุกด้าน ปัจจัยพื้นฐานครบถ้วน สามารถสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนา
ซึ่งหากผู้เรียนได้ผ่านเข้าสู่ระบบของโรงเรียนมาตรฐานสากลทั้ง 2 ประการแล้ว ผลที่ได้คือ ผู้เรียนจะมีศักยภาพเป็นพลโลก (World Citizen) ที่อยู่ภายใต้บริบท ยอดเยี่ยมวิชาการ สื่อสารอย่างน้อย 2 ภาษา ล้ำหน้าทางความคิดผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่เพียงเท่านั้น การกล่อมเกลาผู้เรียนที่จะต้องมีศักยภาพเป็นพลโลกจะต้องพร้อมใจกันร่วมอนุรักษ์โลก เนื่องจากความเป็นสากลที่ถูกปลูกฝังอยู่ในหัวใจของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อวางแนวทางการดำเนินงานโรงเรียน ผนวกกับภาพความสำเร็จของผลผลิตซึ่งคือผู้เรียนที่มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว จึงได้มีการวางเป้าหมายการพัฒนาและยกระดับโรงเรียนมาตรฐานสากลที่จะต้องพัฒนาโรงเรียนในปี 2553 ให้ได้ 200 แห่ง ปี 2554 จำนวน 200 แห่ง และปี 2555 จำนวน 100 แห่งเพื่อครบ 500 แห่งภายใน 3 ปี
สิ่งที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการใน 5 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร ที่ในปีการศึกษา 2553 จะมีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา จำนวน 500 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร English Program (EP), Mini English Program (MEP), International English Program (IEP) หรือ International Baccalaureate (IB) หลักสูตรความเป็นเลิศเฉพาะทาง อาทิ วิทย์-คณิต ภาษา อาชีพ ดนตรี กีฬา ฯลฯ ให้มีความเข้มข้นเทียบเคียงมาตรฐานสากล เรียกได้ว่า หากผู้เรียนมีความประสงค์จะศึกษาต่อในประเทศใด ก็สามารถเข้าศึกษาต่อได้ทันที
การพัฒนาการสอนสาระการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์โดยใช้ภาษาอังกฤษ (สำหรับโรงเรียนไม่ใช้สูตร EP/IEP/MEP) จำนวน 325 แห่ง พัฒนาครูผู้สอน ทั้งในสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่ 2 (จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอื่น ๆ) จาก 234 แห่ง รวม 1,200 คน และสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์เพื่อใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอน จำนวน 325 แห่ง รวม 4,125 คน พัฒนาผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 500 แห่ง และพัฒนาระบบการบริหารโรงเรียนทุกแห่ง เพื่อให้โรงเรียนทั้ง 500 แห่ง เป็นสถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากลอย่างเต็มระบบ
นั่นคืออีกก้าวหนึ่งที่คนไทยจะได้เห็นภาพความสำเร็จของเยาวชนไทย ที่จะผ่านการเพาะบ่มจากโรงเรียนทางเลือกใหม่ "โรงเรียนมาตรฐานสากล" สถานศึกษาที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นเยาวชนโลก ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีคุณภาพ และมีความสามารถก้าวไกลในระดับสากล

(ที่มา http://www.moc.moe.go.th/node/1051 ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงศึกษาธิการ คมชัดลึก ฉบับวันที่ 25 ม.ค. 2553)